pakornpc99

ศิลปะลายรดน้ำ


1 Comment

ลายรดน้ำ

ศิลปะลายรดน้ำเป็นศิลปะประจำชาติไทยมาช้านาน มีการถ่ายทอดวิวัฒนาการมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน น่าเสียดายที่ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามา มีส่วนทำให้ศิลปะไทยถูกลืมเลือนและทอดทิ้ง รวมทั้งศิลปะลายรดน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในงานศิลปะไทยที่มีคุณค่าก็กำลังจะถูกลืมไปด้วยเช่นกัน

ลายรดน้ำคือ งานช่างศิลป์ของไทยแขนงหนึ่งที่ต้องใช้กระบวนการในการเขียนและจะเสร็จสมบูรณ์ได้โดยการรดน้ำลายรดน้ำเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณีประเภทหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเอกรงค์ คือมีสีทองสีเดียว ทั้งเป็นส่วนที่เป็นภาพ ลวดลายหรือ ลวดลายประกอบภาพ สีทองนี้มาจากทองคำเปลวแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรากฎให้เห็นเด่นชัดเป็นเงางามบนพื้นสีดำ หรือพื้นสีแดงเข้ม

เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีระเบียบแบบแผน ในการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ใช้เขียนประดับตกแต่งส่วนประกอบอาคารสถาปัตยกรรมไทย อาทิ ประตู หน้าต่าง เสา ผนังอุโบสถ วิหาร หรือเขียนประดับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ อาทิ ตู้พระไตรปิฎก ฉากลับแล หีบหนังสือ กัณฑ์เทศน์ ใบประกับคัมภีร์ใบลาน หน้าปกสมุดข่อย เครื่องดนตรีไทย จำพวก ฆ้อง รางระนาด เครื่องศาสตราวุธ อาทิ โลห์ ฝักดาบ กูบช้าง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของงานเครื่องเขิน

ลายรดน้ำมีกรรมวิธีและขั้นตอนในการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ต้องใช้เวลานานพอสมควร จึงทำให้เกิดผลงานที่มีความสมบูรณ์งดงาม และมีคุณค่า

ตู้ลายรดน้ำทั้งหลายนี้ช่างที่จะสร้าง จะต้องมีความรอบรู้ เข้าใจในเรื่องราวของพุทธศาสนา พุทธประวัติ ชาดก วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ประเพณีฯ แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวผ่านฝีมือที่เชี่ยวชาญ จึงจะได้งานที่อัศจรรย์สักชิ้นหนึ่ง

ลวดลายจากตู้ลายรดน้ำนั้นจัดเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในสยามประเทศ บางตู้เขียนภาพชนชาวสยามที่ได้ติดต่อกับชาวต่างชาติต่างภาษา ภาพสงคราม ภาพวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันสมัยฯ เป็นบันทึกชั้นเยี่ยมที่อธิบายได้ด้วยความงามที่สงบเงียบ ทำให้เราได้รู้ถึงอดีต ได้ศึกษาความเป็นไป การแต่งกาย รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในยุคนั้นๆ
ลักษณะทั่วๆ ไปของตู้ลายทองจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านหน้ามีประตูตู้สองบานติดบานพับ เขียนลายรดน้ำลงรักปิดทองเกือบทั้งตู้ แต่ก็มีบางตู้ที่ปิดทองทึบ และที่จำหลักไม้แทนการเขียนภาพก็มี
ตู้ทองทึบ เป็นตู้ปิดทองทั้งตู้โดยไม่มีการเขียนลายใดๆ ลงพื้นเลย ดูแล้วอร่ามไปทั้งตู้เหมือนทองคำแท่งวางตะหง่านอยู่

ตู้ไม้จำหลักเป็นตู้ที่จำหลักไม้แทนการเขียนสีหรือลงรักปิดทอง
ตู้ไม้แกะสลักนี้เป็นสมัยอยุธยา แกะสลักเรื่องทศชาติ

ลายกำมะลอ เป็นตู้ที่เขียนลายผสมกับการปิดทอง สีที่ใช้มักเป็นสีแดง สีเทา สีเหลือง สีเขียว เมื่อเขียนเสร็จก็ปิดทองทับลายกำมะลอ ปิดเฉพาะที่ต้องการเน้นเด่นเป็นจุดๆ หรือการปิดทองก่อนแล้วจึงโฉบสีทับก็มี พื้นหลังยังคงเป็นการลงรักสีดำสนิท

ตู้ประดับมุก หีบประดับมุก และเครื่องใช้ประดับมุก ใช้มุกมาฉลุเป็นตัวลาย หรือตัวภาพแล้วนำไปประกอบเนื้อเรื่อง บนพื้นตู้ที่ลงรักสีดำ หากเป็นมุกชั้นดี ที่เรียกว่า มุกไฟ จะสวยเมื่อโดนแสงไฟหรือกระทบแสงแดด ลวดลายจะสะบัดพลิ้ว วูบวาบเหมือนมีชีวิต

งานศิลปะไทยกลิ่นอายขนมปัง มีศิลปินท่านหนึ่งชื่อว่า ท่านขรัวอินโข่ง ท่านเขียนงานไทยผสมฝรั่งจนโด่งดัง งานของท่านนั้นเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย

หีบพระธรรม
หีบพระธรรม – มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านล่างทำเป็นฐานรอบ มีหูทำด้วยโลหะสำหรับยก แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
– หีบพระธรรมฝาตัด
– หีบพระธรรมฝาคุ่ม

หีบไม้จำหลัก – เป็นหีบลายจำหลักไม้
หีบหนังสือสวด หรือหีบพระมาลัย – มีลักษณะเป็นหีบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านข้างของหีบ แบ่งออกเป็น ๓ ช่องพระคัมภีร์ที่เก็บไว้ในหีบนี้จะเป็นหนังสือสมุดไทย มักจะเป็นเรื่องพระมาลัย ซึ่งใช้ในงานศพ

หีบหนังสือเทศน์ – มีลัษณะเป็น
กล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ สะดวกในการเคลื่อนย้าย จุดมุ่งหมายในการสร้างหีบชนิดนี้ขึ้นมา เพื่อใส่พระคัมภีร์ที่พระภิกษุจะนำติดตัวไปแสดงธรรมเทศนานอกวัด